ต้นปาริชาต
ต้นปาริชาติ
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ปาริชาต เป็นต้นไม้แห่งความสมปรารถนาเช่นเดียวกับกามเธนุและเกิดจากการกวนเกษียรสมุทรเช่นกัน พระอินทร์นำไปปลูกไว้ในสวนของพระองค์บนสวรรคโลก (Svargaloka) ลักษณะเป็นไม้พุ่ม มีดอกสีขาวแต้มแดงกลิ่นหอมอบอวล
ในกฤษณาวตาร ภาคหนึ่งของพระวิษณุ ได้แอบไปขโมยต้นปาริชาตจากสวรรค์ตามความปรารถนาของนางสัตยภามา (Satyabhama) ชายาของพระองค์ แต่เกรงว่านางรุกมินี (Rukamini) ชายาอีกคน จะน้อยใจ จึงปลูกต้นปาริชาตไว้ในสวนของนางสัตยภามาแต่หันกิ่งก้านไปทางสวนของนางรุกมินี เวลาที่ดอกปาริชาตร่วงหล่นจะได้ตกใส่สวนของนาง ด้วยเหตุนี้ต้นปาริชาตจากสวรรค์จึงได้ลงมาอยู่บนโลกมนุษย์
อีกตำนานกล่าวถึงหญิงสาวนางหนึ่งหลงรักพระสุริยเทพ นางได้แต่นั่งเฝ้าชมราชรถของพระองค์ขับเคลื่อนผ่านไปทุกเช้าเย็น ช่วงแรกพระสุริยเทพก็สนใจในตัวนางดีแต่ต่อมาไม่นานพระองค์ก็ไปหลงรักหญิงอื่น นางจึงฆ่าตัวตาย จากนั้นต้นปาริชาตก็เกิดขึ้นจากกองเถ้าถ่านที่เผาศพนาง เป็นต้นไม้ที่มีดอกสีขาวแต้มแดงและบานส่งกลิ่นหอมในยามค่ำคืนเท่านั้น เมื่อถึงยามรุ่งอรุณดอกปาริชาตก็ร่วงโรยดุจน้ำตาของนาง บางครั้งก็เชื่อกันว่า ดอกปาริชาตเป็นดอกไม้แห่งความเศร้า
แต่ในวรรณคดีทางพุทธศาสนา เช่น เตภูมิกถา และ กามนิตวาสิฏฐี กล่าวว่า ต้นปาริชาต คือ ต้นทองหลาง อยู่ในปุณฑริกวันบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระอินทร์ มีดอกสีแดงฉาน ร้อยปีจึงจะบานสักครั้ง ทุกครั้งที่บานจะส่งกลิ่นหอมและมีแสงสว่างไปทั่ว เหล่าเทพบุตรเทพธิดาจะมาฉลองร่วมกันใต้ต้นปาริชาต
ผู้ใดที่ต้องการดอกไม้ไปทัดหูเพียงยื่นมือออกไปดอกไม้นั้นก็หล่นลงมาเอง หากรับไม่ทันจะมีลมหมุนวนประคองไว้จนกว่าจะรับได้ กลิ่นของดอกปาริชาตจะทำให้ผู้ที่สูดดมเข้าไปเกิดอาการวิงเวียนและสามารถระลึกชาติได้ ตั้งแต่ชาติที่ใกล้ที่สุดจนถึงชาติที่ไกลโพ้นออกไป ในขณะที่ดอกปาริชาตในอินเดีย คือ ดอกกรรณิการ์ ของไทยเรานั่นเอง เป็นสัญลักษณ์แห่งความโชคดีของหญิงสาวที่เพิ่งแต่งงานใหม่ และเป็นดอกไม้สำหรับบูชาพระกฤษณะ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น